พื้นที่ 1,300,000 ไร่ ของป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดระยอง, จันทบุรี, ชลบุรี, ฉะเชิงเทรา และสระแก้ว พบช้างป่าอาศัยอยู่กว่า 400 ตัว จากการสำรวจพบว่าเส้นทางที่ช้างป่าเข้าออกทำให้เกิดผลกระทบระหว่างคนกับช้างป่าในเรื่องที่ทำกินและที่อยู่อาศัย ราษฎรจึงทูลเกล้าทูล กระหม่อมถวายฎีกาขอพระราชทานความช่วยเหลือ เพื่อแก้ไขปัญหาช้างป่าในพื้นที่ภาคตะวันออก ก่อเกิดเป็น “โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์” โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงรับโครงการฯ ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ กับทรงรับเป็นประธานที่ปรึกษาฯ ด้วยมีพระราชปณิธานที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอด แนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการจัดการความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า เพื่อให้อยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุล โดยมีสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงเป็นประธานคณะกรรมการฯ และได้เสด็จแทนพระองค์ไปทรงปฏิบัติพระกรณียกิจในพื้นที่โครงการฯ มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เกิดประสิทธิภาพ และสร้างขวัญกำลังใจแก่ราษฎร
โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ แบ่งพื้นที่ดำเนินงานเป็น 3 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่ป่าอนุรักษ์ จัดทำพื้นที่สำหรับเป็นที่อยู่อาศัยของช้างป่า ด้วยการปรับปรุงและฟื้นฟูทุ่งหญ้า พัฒนาแหล่งอาหารช้างป่าด้วยการทำโป่งเทียม และปลูกพืชอาหารช้าง ปรับปรุงแหล่งน้ำเดิม และสร้างแหล่งน้ำใหม่ สร้างฝายชะลอความชุ่มชื้นและฝายกึ่งถาวร, พื้นที่แนวกันชน หรือจุดพักช้างเพื่อตรึงช้างให้ห่างจากชุมชน และเพื่อกำหนดเส้นทางการพาช้างกลับคืนสู่ป่าโดยมีการปลูกพืชสมุนไพรที่ช้างไม่ชอบเพื่อเป็นแนวกันชนช้างธรรมชาติ มีพื้นที่คลอบคลุม 5 จังหวัด รวม 1,148 ไร่ ทั้งยังได้สร้างระบบติดตามเฝ้าระวังและเตือนภัยช้างป่า เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นระหว่างคนกับช้างป่า ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานอุปกรณ์เพื่อเฝ้าระวังและเตือนภัยให้แก่หมู่บ้านคชานุรักษ์ และเครือข่าย, พื้นที่ชุมชน ปัจจุบัน มีหมู่บ้านคชานุรักษ์นำร่อง 8 หมู่บ้าน และหมู่บ้านเครือข่าย 18 หมู่บ้าน ในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคตะวันออก มีการสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องพฤติกรรมช้างผ่านสื่อที่เข้าใจง่าย โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานหนังสือการ์ตูน “เรื่องเล่าชาวคชานุรักษ์” ให้กับชุมชน และได้พระราชทานเงินตั้งต้นจัดตั้งกองทุนคชานุรักษ์ เพื่อช่วยเหลือเยียวยาสมาชิก มีหน่วยงานเข้าไปส่งเสริมสนับสนุนด้านต่าง ๆ ราษฎรมีการปรับเปลี่ยนอาชีพจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเป็นการปลูกพืชตามแนวเกษตรทฤษฎีใหม่ เกิดการรวมกลุ่มอาชีพหลากหลายส่งผลให้ราษฎรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ด้วยพระราชปณิธานอันแน่วแน่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่จะทรงแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าส่งผลให้ปัจจุบันพื้นที่ป่าอนุรักษ์ได้รับการฟื้นฟูให้กลับคืนความอุดมสมบูรณ์ มีแหล่งน้ำและแหล่งอาหารเพียงพอสำหรับช้างป่า ราษฎรเกิดความตระหนักรู้และช่วยกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อให้การอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้างป่าเป็นไปอย่างสมดุลและยั่งยืน
156 total views