วันนี้ เวลา 09.13 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จออก ณ ห้องประชุมวังสระปทุม ทรงเปิดงาน “ไทยแลนด์ อินเตอร์เนชันแนล ไซนส์ แฟร์ 2021” ในรูปแบบออนไลน์ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ถ่ายทอดสดและสื่อสารกับนักเรียนทั้งในและต่างประเทศ เป็นการปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลงในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 6-8 มกราคม 2564 เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนที่มีความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั้งในและต่างประเทศ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ แสดงความสามารถทางวิชาการและศิลปวัฒธรรม ผ่านการนำเสนองานและทำกิจกรรม ภายใต้แนวคิด “เสริมสร้างสังคมที่ยั่งยืน พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี”
โอกาสนี้ พระราชทานพระราชดำรัสเปิดงาน แล้วทอดพระเนตรพิธีเปิดแบบออนไลน์ และการแนะนำโรงเรียนที่ร่วมเสนอผลงานทั้งในและต่างประเทศ มีโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เป็นสถานที่หลักในการรับสัญญาณออนไลน์จากที่ต่าง ๆ ถ่ายทอดให้ผู้ที่เข้าร่วมงานได้รับชม มีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 300 คน จาก 50 โรงเรียนทั่วโลก มีการนำเสนอโครงงานวิทยาศาสตร์ของนักเรียนมากถึง 140 โครงงาน และมีกิจกรรมสันทนาการที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ฝึกทักษะการทำงานร่วมกัน, กิจกรรมศึกษาดูงานด้านศิลปวัฒนธรรมผ่านการศึกษาดูงานเสมือนจริง ณ มิวเซียมสยาม วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม และห้างสรรพสินค้าไอคอนสยาม
จากนั้น ทรงฟังบรรยายพิเศษในหัวข้อ “การวิจัยค้นพบยาใหม่ เพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพอย่างยั่งยืน” โดยศาสตราจารย์ นายแพทย์ ฉัตรชัย เหมือนประสาท นักเรียนเก่าดีเด่นโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ รุ่นที่ 7
โดยวันนี้ ยังมีการนำเสนอโครงการของนักเรียนที่ได้รับคัดเลือก 4 โครงการ ได้แก่ โครงงานสาขาวิชาเคมี เรื่อง การปรับปรุงประสิทธิภาพการดูดซับก๊าซของวัสดุโครงข่ายสารอินทรีย์พอร์ไฟริน ของ Korea Science Academy of KAIST สาธารณรัฐเกาหลี จากการวิจัยพบว่าการใช้วิธีเขย่าในการกำจัดตัวทำละลายทำให้มีรูพรุนเพิ่มมากขึ้น และสามารถใช้ในการดูดซับก๊าซได้, โครงงานสาขาวิชาคอมพิวเตอร์ เรื่อง การศึกษาและพัฒนาต้นแบบทางวิศวกรรมของดาวเทียมขนาดเล็กสำหรับทดลองในชั้นบรรยากาศระดับสูงโดยใช้บอลลูน ของโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ชลบุรี จากการวิจัยพบว่าภารกิจของดาวเทียมประสบความสำเร็จดี ข้อมูลที่ได้เป็นประโยชน์นำไปพัฒนาต่อได้ในอนาคต, โครงงานสาขาวิชาชีววิทยา เรื่อง การทำนายและคัดเลือกเปปไทด์ต้านมะเร็งลำไส้ใหญ่จากข้อมูลเปปทิโดมของเห็ดถังเช่าสีทอง ด้วยเทคนิคชีวสารสนเทศ ของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เพื่อหาทางเลือกใหม่ในการรักษามะเร็ง, โครงงานสาขาวิชาเคมี เรื่อง การพัฒนาเซนเซอร์ชนิดพอลิไดอะเซทิลีน สำหรับการตรวจจับฟอร์มาลดีไฮด์ เป็นโครงงานที่พัฒนาร่วมกันระหว่าง นักเรียนจากโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ กับนักเรียนจาก National Junior College สาธารณรัฐสิงคโปร์ ปัจจุบัน โลกเกิดสถานการณ์เกิดวิฤกตหลายอย่างที่ส่งผลกระทบครั้งใหญ่ต่อสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และการดำรงชีวิต องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยผลักดันให้เกิดการพัฒนาและขับเคลื่อนให้มนุษย์มีความสามารถในการรับมือและปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ การจัดงานนี้ จึงมีส่วนสำคัญช่วยให้ผู้บริหารและครูได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การสอน และองค์ความรู้ด้านการศึกษา และช่วยให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษาที่สนใจการทำวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ได้สร้างเครือข่าย มิตรภาพ และความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน